Sunday, August 2, 2015
เมื่อวานนี้ (01/08/2015)
ผมได้มีโอกาสเข้าร่วม สัมมนา ในหัวข้อ "อินทผลัมกินผล พืชทองแห่งยุค" กับเครือมติชน Matichon Academy โดยมีได้มีการชำระค่าเข้าร่วมเป็นเงิน 690 บาท ซึ่ง ณ จุดนี้ผมว่า ไม่แพง!! กับสิ่งที่เราได้รับกลับมาครับ

แรกเริ่มเลย ผมได้อ่านเจอ Post ที่ Facebook Page ของ ดร.ศักดิ์ ชำนาญ ผมเลยสนใจเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ครับ ในใจคิดว่า คนเข้าร่วมไม่น่าจะเยอะ แต่กลับไม่เป็นอย่างนั้นครับ

ในตอนเช้าวันที่ 1 สิงหาคม 2558 ผมไปถึง มติชน อคาเดมี่ (Matichon Academy) ประมาณ 8:20 น. ผมรู้สึกแปลกใจมาก ที่เห็นว่ามีคนมาแล้วเป็นจำนวนมาก ราว ๆ 60 กว่าคนได้ (กำหนดการลงทะเบียน 8:00 - 8:45 น. ครับ) แสดงว่ามีคนที่สนใจอินทผลัมมากเลยทีเดียวครับ

หลังจากที่ผมลงทะเบียนเสร็จก็หาของว่างทาน เป็น โอวัลติลกับซาลาเปา ระหว่างนั้น ทางทีมผู้จัดงาน ก็จะมีอินทผลัมให้เราชิมได้ฟรีครับ

ถ่ายรูปหน้างานเก็บไว้ซะหน่อย







เมื่อใกล้กำหนดการ (8:45 น.) ก็เข้าห้องประชุมสัมมนาครับ ผมก็ยิ่งแปลกใจอีกครั้ง พบว่ามีผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ หลายร้อย คนเลยทีเดียวครับ ภาพนี้แค่บางส่วนเองนะครับ

ช่วงครึ่งเช้า ก็จะสัมนา หัวข้อย่อย "อินทผลัมกินผล พืชใหม่ที่ท้าทาย"
โดยมี ผู้ให้ความรู้ 3 ท่าน
- อาจารย์ประทีป กุณาศล เสนอภาพรวมอินทผลัมกินผล
- ดร. ศักดิ์ ลำจวน (โกหลัก) ผู้บุกเบิกอินทผลัมกินผลในเมืองไทย จังหวัดเชียงใหม่
- คุณสมภพ ลุนาบุตร เล่าประสบการณ์การปลูก ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ร้อยเอ็ด
และผู้ดำเนินรายการโดย อาจารย์ถวิล สุวรรมณี


พอถึงช่วงพักเที่ยง ทาง มติชนอคาเดมี่ ก็จะมีอาหารกลางไว้เตรียมไว้ให้ครับ แต่ไม่ได้เก็บภาพไว้
ระหว่งทานมื้อกลางวัน ก็ได้รู้จักกับผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านอื่น ก็มี พี่สน พี่โอฬาร ป้าอิ่ม ลุงชำนาญ ลุงอ้าย (ลืมขอเบอร์ลุงอ้ายไว้!!) ทุกคนคุยกัน ยังกับว่ารู้จักกันมาก่อน บรรยากาศเยี่ยมเลยมากครับ

พอทานมื้อกลางวัลเสร็จก็เข้าฟังต่อครับ ในหัวข้อย่อย "รู้ลึกเรื่องการปลูก ดูแลรักษา และตลาดอินทผลัมกินผล" โดย

- คุณอภิชน วรรณี เจ้าของสวนภูผาลัม เล่าประสบการณ์การปลูกอินทผลัมกินผล จากต้นเพาะเลี้ยง
- คุณอนุรักษ์ บุญลือ เกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัม จ.กาญจนบุรี กับมุมมองการปลูกอินทผลัมให้ประสบความสำเร็จ
- คุณปภาภัสสร์ หิรัญยวุฒินิภากร ผู้จักการฝ่ายบริหารสินค้า บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด เล่าเรื่องตลาดอินทผลัมกินผล
และดำเนินรายการโดย อาจารย์ประเวศ แสงเพชร

และเมื่อจบสัมมนา ก็ถ่ายรูป ไว้ซะหน่อยครับ

แล้วผมก็ได้มีโอกาศ ขอถ่ายรูปคู่กับ พี่อภิชน ด้วยครับ


Friday, May 25, 2012
เมื่อวานมีน้องคนนึง ถามขึ้นมาว่า "Town House" กับ "Town Home" มันต่างกันยังไง
ผมก็เลยลองหาคำตอบดูว่า Home กับ House เหมือนหรือต่างกันยังไง

มาดูกันที ที่ความหมายของแต่ละคำก่อนนะครับ ทั้ง Home และ House ต่างก็แปลว่าบ้านครับ แต่เวลาพูดภาษาอังกฤษจะใช้ต่างกัน ทีนี้มาดูความหมาย เป็นภาษาอังกฤษก่อนนะครับ


house  a building used as a home

ผมลองแปลเป็นไทยว่า House คือสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นบ้าน (home)

home  the place where something is invented, founded, or developed ⇒ the US is the home of baseball 

ผมแปลเป็นไทยว่า Home คือสถานที่ ที่ซึ่งได้สรรค์สร้างสิ่งที่เรียกว่าบ้าน (house) หรือปลูกบ้านนั่นแหละครับ


เริ่มงงรึยังครับ ถ้าไม่งงก็ยินดีด้วยครับ ถ้างงอ่านต่อเลยละกันครับ

"House is a physical structure. A house is an actual building."
"Home is an abstract term referring to where you are from or where you live. Your home can be a country, planet, state, or an address."

คำว่า "Home" กับ "House" นั้นต่างก็เป็นคำนาม (Noun) มีความหมายเหมือนกันคือ "บ้าน" คำว่า "Home" นั้นเป็นคำที่บ่งบอกถึงความรู้สึกที่มีต่อบ้านมากกว่าคำว่า "House"  คำว่า "Home" มีลักษณะที่เป็นนามธรรม (Abstract)  เป็นสิ่งที่เราจับต้องไม่ได้ต้องใช้ความรู้สึกเข้าไปสัมผัส ซึ่งภายในบ้านนั้นต้องมีครอบครัว มีสมาชิกภายในครอบครัว พูดง่ายๆ ก็คือเมื่อเราพูดถึง "Home" เราก็จะนึกถึงบ้านที่มีครอบครัวที่อบอุ่น เป็นบ้านที่เราเกิด "Home" เป็นบ้านที่มีจิตวิญญาณ แฝงไปด้วยความรู้สึก คือความรู้สึกที่มีต่อบ้าน คำว่า "Home" บ้านของเรานั้นอาจจะเป็นประเทศบ้านเกิด (homeland) โลก (Earth) ดาวเคราะห์ดวงอื่น (Other planets) รัฐ (State) หรือที่ใดๆก็ได้ (Wherever)  แต่บ้านเหล่านี้มักจะแฝงไปด้วยความรู้สึก (Feeling) ความรัก (Love) ความอบอุ่น (Warmth)

Examples:
   
        Big John is always proud of his hometown.
        บิ๊ก จอห์น มีความภาคภูมิใจในบ้านเกิดของเขา
        Big John thinks of his home so much.
        บิ๊ก จอห์น คิดถึงบ้านเขาอย่างมาก (บ้านที่มีครอบครัวที่อบอุ่น)
        Aiden has got homesick.
        ไอเดนคิดถึงบ้าน (คิดถึงครอบครัวและบ้านที่อบอุ่น)
        While travelling Kelly missed the comforts of home.
        ขณะที่ไปเที่ยว เคลลี่คิดถึงบ้านอบอุ่น
        Old people mainly prefer to stay in their own homes.
        ส่วนใหญ่แล้วคนแก่มักจะชอบอยู่ที่บ้าน (บ้านที่อบอุ่น มีสมาชิกในครอบครัวดูแล)
        Home is where the heart is.
        บ้านคือที่ ที่คนที่เรารักรออยู่
        She always feels depressed when she thinks of home.
        เธอรู้สึกหดหู่ใจ เมื่อนึกถึงบ้าน (ประโยคนี้เป็นการแสดงความรู้สึกต่อบ้านในแง่ลบ ในกรณีนี้อาจเป็นบ้านที่ครอบครัวมีปัญหา ครอบครัวแตกแยก)

ส่วนคำว่า "House" เป็นคำนาม (Noun) เหมือนกัน แต่คำว่า "House" นั้นมีลักษณะเป็นรูปธรรม (Non-Abstract, material object, physical structure) เป็นบ้านที่เราไม่ต้องใช้ใจเข้าไปสัมผัส สามารถรู้เห็นด้วยตาเนื้อหรือกายสัมผัส (physical eyes,sensory organs) ไม่ต้องใช้ตาใจหรือความรู้สึก (mind,feeling) เข้าไปสัมผัส เราสามารถสัมผัสและจับต้องได้ทางกายภาพ คำว่า "House" นั้นเป็นเพียงแค่วัตถุสิ่งก่อสร้าง เป็นอิฐเป็นปูนซีเมนต์ เป็นบ้านที่ไม่ได้แฝงไปด้วยความรู้สึก ความรัก ความอบอุ่น เหมือนกับคำว่า "Home" เลย ดังนั้นเมื่อเราพูดถึงคำว่า House เราจะไม่มีความรู้สึกว่ามีความรัก ความความอบอุ่น ที่มีอยู่ในบ้านนั้นเลย

Examples:

        This house will be on sale next two weeks.
        บ้านหลังนี้จะนำออกขายใน 2 สัปดาห์หน้า
        A lot of new houses are being built nearby the seashore.
        บ้านหลายๆหลังถูกสร้างใกล้ๆกับชายฝั่งทะเล
        That old house was made of bricks.
        บ้านเก่าๆหลังนั้นสร้างจากอิฐทั้งหลัง
        My house was adorned with so many colourful neon lights at Christmas.
        ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส บ้านของผมได้รับการตกแต่งด้วยแสงไฟนีออนหลากสี    
สรุปก็คือ "House" เป็นบ้านที่ไม่มีความรู้สึก ไม่ต้องใช้ความรู้สึกเข้าไปสัมผัสได้ด้วยร่างกาย มองเห็นด้วยตาเปล่า(จักขุประสาท) ส่วน "Home" เป็นบ้านที่เกี่ยวเนื่องกับความรู้สึก ต้องใช้ความรู้สึกเข้าไปสัมผัส เป็นบ้านที่แฝงไปด้วยความรู้สึก

ที่มา : http://www.engtest.net/?status=detail&&type=03-08&&topic_id=2170

เป็นงัยกันบ้าง ผ่านมาถึงตรงนี้น่าจะเข้าใจกันอย่างถ่องแท้นะครับ
Sunday, May 13, 2012

หาฤกษ์ การสร้างบ้าน การปลูกบ้าน การขึ้นบ้านใหม่ (การปลูกเฮือน ขึ้นเฮือนใหม่)
ปัจจัยสี่ที่สำคัญของมนุษย์ย่อมมีที่อยู่อาศัย หรือ บ้าน เฮือน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ไม่ว่าเราจะไปทำมาค้าขาย ทำกิจการงานที่ใดก็ตาม เมื่อเสร็จกิจการงานแล้วก็จะกลับมายังบ้านพักอาศัยเสมอ เพราะบ้านเป็นที่ที่เราภาคภูมิใจ เป็นสิ่งที่รักและหวงแหน ความอบอุ่นเกิดภายในบ้าน นอนหลับสบายใจไร้ความกลัว และความหวาดระแวง แต่ถ้าปลูกบ้านไม่ถูกโฉลกกับเจ้าของ ความทุกข์ความเดือดร้อนก็จะเกิดขึ้นกับเรา ดังนั้น จึงควรเลือกวัน เวลา เดือน ปี โสกหรือโฉลก และวิธีปลูกบ้าน ให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมโบราณณ
  1. ปลูกเฮือนวันใดดี?
    • วันอาทิตย์ ท่านห้ามปลูกความอุบาทว์จัญไรจะเกิด
    • วันจันทร์ ท่านว่าปลูกได้จะมีลาภ ผ้าผ่อนท่อนสะไบบังเกิดแก่เจ้าของบ้าน
    • วันอังคาร ท่านห้ามปลูก จะเกิดอันตรายจากไฟ
    • วันพุธ ท่านว่าดี มีลาภเป็นของขาวเหลือง
    • วันพฤหัสบดี ท่านว่าดี จงปลูกเถิดจะได้ลาภและความสุขพูนทวี
    • วันศุกร์ ท่านว่า ห้ามปลูกจะมีทุกข์และสุขเท่ากันแล
    • วันเสาร์ ท่านห้ามปลูกเด็ดขาด จะเกิดถ้อยความมีคนเบียดเบียน และจะมีเรื่องเดือดร้อนใจ
  1. ปลูกเฮือนเดือนใดดี?
    • เดือนอ้าย (เดือน 1) ท่านว่า จะทำมาค้าขึ้น จะได้เป็นเศรษฐี เพราะกิจการค้านั้น
    • เดือนยี่ (เดือน 2) ท่านว่าดี มีศิริในการป้องกันศัตรูทั้งมวล
    • เดือนสาม ท่านห้ามปลูก จะมีภัย ศัตรูเบียนเบียด
    • เดือนสี่ ท่านว่า ปลูกดีจะมีลาภ จะมีความสุขกายสบายใจ
    • เดือนห้า ท่านว่าจะเกิดทุกข์ร้อนไม่สบายใจ
    • เดือนหก ท่านว่าประเสริฐ จะส่งผลให้เงินทองไหลมาเทมา
    • เดือนเจ็ด ท่านห้ามปลูก จะเป็นอันตรายแก่ทรัพย์ที่หาไว้ได้แล้ว จักถูกโจรลัก หรือไฟไหม้
    • เดือนแปด ท่านห้ามปลูกเฮือนในเดือนนี้ เงินทองข้าวของที่เก็บไว้ จะมิอยู่คงที่แล
    • เดือนเก้า ท่านให้เร่งปลูกเฮือน ถ้ารับราชการจะได้รับการปูนบำเหน็จแล ถ้ามิได้รับราชการก็จะเจริญในการประกอบอาชีพแล
    • เดือนสิบ ท่านห้ามปลูก จะได้รับอันตรายจากโทษทัณฑ์ อาญาแผ่นดิน และการเจ็บไข้ได้ป่วย
    • เดือนสิบเอ็ด ท่านห้ามปลูกจะถุกคนหลอกลวงเอาของ และสิ่งที่ห่วงแหน
    • เดือนสิบสอง ท่านว่าควรเร่งปลูก จะได้เงินทองข้าวของ ช้างม้า ข้าทาสผู้ซื่อสัตย์แล
  2. ปลูกเฮือนปีใดดี?
    • ปีชวด ให้เอากิ่งไม้คูณหรือไม้ราชพฤกษ์ มัดเสาแล้วจึงยกเสาลงหลุม เป็นมงคลแล
    • ปีฉลู ให้เอาผ้าขาวม้าห่อกล้วยพันปลายเสา เอากิ่งตูม 3 กิ่ง มามัด จึงยกเสาลงหลุมดีนักแล
    • ปีขาล ให้เอาข้าวใส่กระทง 3 อันมาวางบนเสา แล้วเอาน้ำมารด 3 ขัน จึงยกเสาลงหลุมดีนักแล
    • ปีเถาะ ให้เอาใบตะเคียน ใบหูดหอม และต้นกล้วย มัดปลายเสา แล้วจึงยกเสาลงหลุมดีนักแล
    • ปีมะโรง ให้เอาผ้าห่อใบหูดหอม และกำยานพันปลายเสา แล้วยกเสาลงหลุมดีนักแล
    • ปีมะเส็ง ให้เอาใบทอง 2 กิ่ง ผูกปลายเสา เอาข้าวสุกใส่กระทง 3 กระทง ธูป 3 คู่ เทียน 3 คู่ บูชา แล้วจึงยกเสาลงหลุมดีนักแล
    • ปีมะเมีย ให้เอาใบขี้เหล็ก 3 กิ่งกวาดตั้งแต่ปลายเสาลงมาถึงต้นเสา 3 ที แล้วเอาน้ำรดปลายเสา 3 ขัน รอจังหวะถ้าได้ยินไก่ขัน จึงยกเสาลงหลุมมีโชคชัยแล (ถ้าไม่มีไก่ขันให้ขันสมมุติเอา)
    • ปีมะแม ให้เอาใบเงิน 3 ใบ ใบหมากตัวผู้และหมากตัวเมียอย่างละ 3 ใบ กล้วยสุก 3 หน่วย อ้อย 3 ข้อ ใส่ในหลุม แล้วจึงยกเสาลงหลุมดีนักแล
    • ปีวอก หรือปีระกา ให้เอาเทียน 3 เล่ม ไปผูกต้นเสาทางหัวนอน ต้นไหนก็ได้ จึงยกเสาลงหลุมดีนักแล
    • ปีจอ หรือ ปีกุน ให้เอาข้าวตอกแตก 5 ดอก ใบบัวบก 5 ใบ รองตรงหัวเสาในหลุมก่อน จึงยกเสาลงหลุมดีนักแล
  3. วิธีขุดเสาเฮือน โบราณาจารย์ท่านว่า บ้านต้องปลูกใส่บนดิน ในดินมีทั้งแม่ธรณีและพญานาค (นาคดิน) เป็นอารักษ์ เพื่อให้เกิดความเป็นศิริมงคล ท่านว่า ควรย้ายแม่ธรณีและทำให้ถูกต้องตามโครงการนาคดิน กล่าวคือ นาคดิน นี้เราจะต้องรู้จักว่า หัวนาค หางนาค หลังนาค และท้องนาค อยู่ทางทิศไหนในแต่ละเดือนที่เราจะปลูกบ้านก่อนเพื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะถูกพิษนาค ทำให้เราเจ้าของบ้านต้องเดือดร้อน เจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ควรปฏิบัติดังนี้
    • การย้ายแม่ธรณี
            ก่อนจะมีการขุดดินปลูกบ้าน โบราณท่านว่า ให้ย้ายแม่ธรณี และสิ่งของที่เป็นอาถรรพ์ทั้งหลายออกไปก่อน บ้านจึงจะเป็นบ้านอยู่สุข วิธีย้ายให้เอาเทียนเหลือง 1 คู่ ดอกไม้ขาว 1 คู่ แต่งใส่ขัน แล้วเอาผ้าขาวพาดบ่า (ห่มเฉลียงบ่า) เดินไปตรงกลางลานดินที่จะปลูกบ้าน แล้วกล่าวคำอัญเชิญว่า
            "อุกาสะ ผู้ข้าขออัญเชิญแม่ธรณีเจ้าได้ออกจาก (หยับย้ายออกจาก) ที่ปลูกบ้าน เพราะที่ปลูกบ้านลูกหลานย่อมทิ้งสิ่งสกปรก ขอย้ายแม่ออกไปอยู่ข้างบ้าน แล้วขอให้แม่คุ้มครองปกป้องรักษาบ้าน และลูกหลานในบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้แม่นำสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย หมายมีกระดูกเป็นต้น ขอให้แม่โยนทิ้งไปให้ไกล เอาเหลือไว้แต่สิ่งอันเป็นมงคลแก่ข้าเทอญฯ"
            แล้วนำเอาธูปเทียนนั่นทิ้ง วางไว้ทางทิศตะวันตกของที่ปลูกบ้าน ส่วนผู้จะประกอบพิธีนี้จะให้คนแก่ที่มีศีลธรรม (ผู้ชาย) หรือจะเอาผู้ชายเจ้าของบ้านนั้นก็ได้
    • การหลีกพิษนาค ในเดือนที่เราเห็นว่าปลูกบ้านดี เช่น เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสี่ เดือนหก เดือนเก้า และเดือนสิบสอง ควรจะรู้ว่าเดือนเหล่านี้ ส่วนของนาคส่วนใดอยู่ทิศใด เวลาขุดดินการโกยดิน และการวางเสาแอกเสาขวัญ จะวางได้ถูกทิศทาง จะได้ไม่รับอันตรายจากพิษนาค โบราณท่านว่าดังนี้
      • เดือนอ้ายและเดือนยี่ หัวนาคอยู่ทางทักษิณ (ทิศใต้) หางนาคอยู่ทางทิศอุดร (เหนือ) ท้องนาคอยู่ทางทิศปัจจิม (ตะวันตก) หลังนาคอยู่ทางทิศบูรพา (ตะวันออก) เวลาเข้าไปขุดดิน ให้เข้าไปในทางทิศท้องนาค โกยดินก็โกยไปทางทิศท้องนาคเช่นกัน คือทิศตะวันตก
      • เดือนสี่และเดือนหก หัวนาคอยู่ทางทิศปัจจิม หางนาคอยู่ทางทิศบูรพา หลังนาคอยู่ทางทิศอุดร ท้องนาคอยู่ทางทิศทักษิณ เมื่อเข้าไปขุดดินให้เข้าไปทางทิศท้องนาค โกยดินไปทางทิศอาคะเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) เมื่อเอาเสาไปวางก็หันปลายเสาไปทางทิศอาคะเนย์
      • เดือนเก้า หัวนาคอยู่ทางทิศบูรพา หางนาคอยู่ทางทิศปัจจิม หลังนาคอยู่ทางทิศทักษิณ ท้องนาคอยู่ทางทิศอุดร การเข้าไปขุดเสาให้เข้าไปทางทิศเหนือ แต่การโกยดินและการหันปลายเสาเมื่อเอาไปวางปากหลุม ให้โกยและหันไปในทิศอิสาณ (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
      • เดือนสิบสอง หัวนาคอยู่ทิศอุดร หางนาคอยู่ทางทิศทักษิณ หลังนาคอยู่ทิศบูรพา ท้องนาคอยู่ทางทิศปัจจิม ให้เข้าไปขุดเสาในทิศตะวันตก โกยดินไปทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) การเอาเสาไปวางก็ให้หันปลายเสาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นศิริมงคลนักแล
    • วิธีบูชานาค เพื่อเป็นสิริมงคลต่อบ้าน โบราณท่านให้ทำเครื่องเซ่นไหว้พญานาค ซึ่งประกอบด้วยธูปเทียน และเครื่องบวดต่างๆ วิธีการทำมีดังนี้
      • ให้เอาโต๊ะไปตั้งวางไว้ทิศหัวนาคอยู่ แล้วเอาของหวานใส่ เช่น บวดฟักทอง ใส่ถ้วยวางไว้ในถาด เอาดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่ ธูป 5 คู่ ใส่ในถาดวางไว้บนโต๊ะ
      • ให้ทำธงใส่หลักไปปักข้างโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้ทั้ง 2 ข้าง สำหรับผ้าทำธงให้ใช้สีตามเดือน ดังนี้
        เดือน สีธง เดือน สีธง
        เดือนอ้าย สีขาว เดือนยี่ สีขาว
        เดือนสี่ สีเหลือง เดือนหก สีเหลือง
        เดือนเก้า สีดำหรือสีนิล (เขียวแก่) เดือนสิบสิง สีแดง
      • กล่าวคำบูชา 1 จบ ว่า "อะยัง มะหานาโค อิทธิมันโต ชุติมันโต อิมินา สักกาเรนะ มะหานาคัง ปูเชมิ"
วิธีขุดเสา เมื่อเราทำเครื่องบูชาเสร็จแล้ว ให้ลงมือขุดหลุมเสาแฮก คนที่ถือเคร่งจริงๆ เวลาขุดหลุมเสาแฮกนั้น เขาจะเอาไม้คูณ หรือไม้ยอทำด้ามเสียมก่อน คนขุดก็จะตั้งชื่อให้ว่า "ท้าวเงิน ท้าวคำ ท้าวแก้ว ท้าวค้ำ ท้าวคูณ" ชื่อใดชื่อหนึ่งตามความเหมาะสม ให้เป็นผู้ขุดเสาแฮก แต่ถ้าจะตั้งชื่อคนขุดทั้ง 8 หลุม (เรือน 3 ห้องสมัยโบราณมีเสา 8 ต้นต่อเกย หรือเฉลียงอีก 4 ต้น จึงรวมเป็น 12 ต้น เกยไม่นับเป็นเรือน) ก็ให้ตั้งเพิ่มอีก 3 ชื่อ คือ ท้าวสุข ท้าวดี ท้าวมี แล้วให้ขุดเสาคนละเสา
สำหรับเสียมขุด นอกจากเสาแฮกแล้วจะเอาด้ามอะไรก็ได้ เฉพาะเสาเอกหรือเสาแฮก ให้ใช้เสียมไม้คูณ หรือไม้ยอ โดยให้ท้าวเงินเป็นคนขุด ในเวลาขุดหลุมเสาย่อมจะพบสิ่งที่เป็นมงคลและไม่เป็นมงคล ดังนั้นเมื่อพบแล้วให้แก้นิมิตแก้อาถรรพ์ ดังนี้
  1. ถ้าขุดไปพบกระดูก ท่านให้เอาน้ำสะอาดสรงแก้วแหวนเงินทอง มารดลงในหลุมเป็นศิริมงคลแล
  2. เมื่อขุดลงไปพบขนสัตว์หรือเชือก ให้ไปขอน้ำมนต์จากพระมารดหลุม เป็นศิริมงคลแล
  3. ถ้าขุดลงไปพบไม้ทราง ให้นิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ แล้วเอาน้ำพระพุทธมนต์รดลงในหลุม เป็นศิริมงคลแล
  4. ถ้าขุดลงไปพบอิฐ หรือดินเหมือนขี้หนู ท่านให้เอาน้ำผึ้งแท้รดลงในหลุม เป็นศิริมงคลแล
  5. ถ้าของไม่ดีนอกจากนี้ ท่านให้เอาน้ำสรงพระพุทธรูปใส่ขันไว้ เอาดอกบัวหลวง ถ้าของไม่ดีนอกจากนี้ ท่านให้เอาน้ำสรงพระพุทธรูปใส่ขันไว้ เอาดอกบัวหลวง และหญาแพรก ใส่ลงในหลุม แล้วเอาน้ำสรงพระพุทธรูปรดลงในหลุม เป็นศิริมงคลแล
  6. ก่อนเอาเสาแฮก (เสาเอก) ทางหัวนอนลงหลุม ให้เขียนกลใส่หลุมว่า "ปู่ก่อสร้างเป็นอาชญ์เฮือนหิน เงินคำมีหมื่นกือกองล้น" ต้นเสาขวัญทางตีนนอน (เสาขวัญ) ให้เขียนกลใส่ในหลุม ก่อนเอาเสาลงหลุมดังนี้ หลานก่อสร้างเป็นอาชญ์เฮือนหิน เงินคำมีหมื่นกือกองล้น" เขียนแล้วเอาลงใส่ในหลุมดังกล่าว
ลักษณะที่ดินที่ไม่ควรปลูกเฮือน
  1. พื้นดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ท่านว่าไม่ควรปลูกบ้านเพราะเข้าลักษณะโลงผี จะทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย ควรแยกที่ดินนั้นเป็นสวนไม้ดอก ไม้ผล ด้วยการกั้นรั้วแบ่งเป็นสัดส่วนให้ที่ดินเปลี่ยนรูปร่าง ไปเสียส่วนหนึ่งก่อน แล้วจึงปลูกท่านว่าจะเป็นมงคลแล
  2. ที่ดินรีแหลมยาวรูปธง ท่านว่าไม่ควรปลูกบ้าน ถ้าจะปลูกควรแก้เคล็ดดังข้อ 1 เสียก่อน จึงปลูกบ้าน ท่านว่าจะเป็นมงคลแล
  3. อย่าปลูกบ้านกวมตอไม้ใหญ่ ถ้าจะปลูกก็ควรขุดออกให้หมดเสียก่อน มิฉะนั้นจะทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย ท่านว่า มีภูติผีสิงอาศัยอยู่ในนั้น
  4. อย่าปลูกเฮือนอกแตก คือทำบ้านสองหลังเป็นฝาแฝด แต่ชายคาไม่ต่อกัน จะทำให้คนในบ้านทะเลาะวิวาทกัน
  5. อย่าปลุกเฮือนหงำเฮือน (ข่มเฮือน) คือทำเฮือนใหญ่ที่เป็นเสาเอกนั้น ต่ำกว่าเฮือนเล็กที่สร้างขึ้นใหม่ โบราณท่านว่า จะยากไร้อนาถา ไม่มีคนยำเกรง มีแต่คนข่มเหงแล
    ที่มา :  http://www.mahamodo.com/tamnai/good_time_home_isan.aspx
Saturday, August 6, 2011
ที่มา : http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=8610.800
1. ล้างเมล็ดให้สะอาด เอาเมล็ดแช่น้ำ กี่คืนก็ได้ แล้วแต่ว่าเราจะเอาไปลงถุงเพาะชำเมื่อไร
แต่ละคืนก็ซาวน้ำทิ้งบ้าง เพาะผิวของเปลือกมันร่อนลอกออกมาเรื่อยๆ ถ้าเอาไว้ประมาณ 10 คืน
เขาจะงอกทะลุเมล็ดออกมาเป็นรอยบุ๋มสีขาว อยู่ตรงข้ามกับร่อง

2. แช่น้ำยาเร่งรากประมาณ 1 วัน
(ใช้น้ำยาเร่งราก 1 ฝา ต่อน้ำ 1 ลิตร แช่ได้ประมาณ 2,000 เมล็ด ถ้าลุงทำน้อยก็ใช้น้ำยาเร่ง
ลดขนาดมาก็ได้ค่ะ ถ้าไม่มีน้ำยาเร่งรากก็ใช้กระปิก็ได้ค่ะ เลือกกระปิที่มีตาดำๆเยอะๆ
จะมีไคโตซานมาก ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของรากค่ะ)

3. เตรียมวัสดุเพาะ ที่สวนของซอสใช้
ขี้วัว :แกลบเหลือง:ดินดำ:ดินขี้เถ้าอ้อย:ดินขี้ด่างอ้อย:แกลบดำ =2:3:1:4:2:1
(สูตร เดียวกับที่ทำกิ่งพันธุ์ไผ่)
(ดินกับขี้วัวต้องตีให้แหลกละเอียด ส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากันก่อน แล้วเอาน้ำมารด
คนให้ทั่วอย่าให้แฉะ เกลี่ยให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม ปล่อยทิ้งไว้ 2 คืน ไม้ต้องคลุมใดๆทั้งสิ้นค่ะ)

4. กรอกส่วนผสมใส่ถุงดำขนาด 3X7 กระแทกให้แน่น

5. ปรับพื้นที่ให้พื้นเป็นแนวระนาบไม่ขรุขระ บริเวณมีแสงรำไรเช่นใต้ต้นไม้ เอาผ้ายางปูพื้นก่อน
แล้วนำข้อที่ 4 มาวางเรียงเป็นแถว

6. เอาเมล็ดอินทผลัมหยอดถุงละ 1 เมล็ด จนกว่าจะครบ

7. เริ่มจัดระเบียบการวางเมล็ด โดยจับเมล็ดด้านที่เป็นร่องหงายขึ้น เอาด้านที่เป็นโค้งกดลงไปในดิน
ลึกประมาณ 2 ซม. เอาดินกลบ ทำอย่างนี้ให้ครบทุกถุง รับรองว่าไม่มีหลงในระหว่างการหยอด
เมื่อครบทุกถุงแล้วรดน้ำ แล้วเอาฟางปิดบางๆ

8. ประมาณ 15 วัน รากจะทะลุเมล็ดด้านที่เป็นโค้ง ช่วงนั้นอย่าไปดึงออกมาดูเด็ดขาด
เขาจะกระทบกระเทือน ทิ้งไว้ไม่เกิน 1 เดือนก็ได้ต้นกล้าที่ต้องการมีใบจำนวน 1 ใบแล้ว

อีกวิธีก็น่าสนใจครับ
Sunday, July 24, 2011
อินทผลัม ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phaenix sp.
ชื่อวงศ์ : Palmae (Arecaceae)
ชื่อสามัญ : Date Palm


การปลูก
1. ต้นที่ปลูกจะใช้วิธีการแยกหน่อจากต้นใหญ่ (ตัวเมีย) โดยเลือกต้นแม่ที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป หน่อมีขนาดใหญ่ดีกว่าขนาดเล็ก เมื่อตัดจากต้นแม่แล้วจะมัดรวบใบไว้ก่อน (ควรใช้หน่อที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 นิ้ว ขึ้นไป) ราคาต้นพันธุ์ประมาณ 15-20 RO ขึ้นอยู่กับพันธุ์ (ประมาณ 1,500-2,000 บาท ; 1 RO = 100 บาท)

2. เมื่อปลูกแล้วประมาณ 3 ปี จะเริ่มให้ผลผลิต 3. การปลูกจะขุดหลุม ขนาด 0.8 x 0.8 x 0.8 เมตร ปลูกให้หน่ออยู่ลึกลงไปในหลุม และหน่อจะลึกลงไปในดินประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถเก็บน้ำไว้สำหรับต้นที่ปลูกใหม่ได้ดี ระยะปลูกใหม่ยังไม่ให้ปุ๋ย ให้เหลือเพียงแต่น้ำทุก 5 วัน เมื่อตั้งตัวแล้วประมาณ 1 เดือน จึงจะเริ่มให้ปุ๋ยคอก ต้นละประมาณ 2 กิโลกรัม ในการปลูกระยะแรกจะยังคงมัดรวบใบไว้จนกว่าต้นจะฟื้นและตั้งตัวได้ จึงจะตัดเชือกที่ผูกออก วิธีการนี้จะใช้กับการย้ายต้นใหญ่ๆ ไปปลูกที่อื่นด้วย จะช่วยให้ต้นรอดตายมาก

การดูแลรักษา
1. การปรับพื้นดิน ในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วทุกปี (ประมาณเดือนกันยายน) จะมีการใช้รถไถเดินตามไถพรวนพื้นที่ใต้ต้นซึ่งสภาพดินส่วนใหญ่จะเป็นทราย เป็นการกำจัดวัชพืชไปในตัว ขณะเดียวกันก็จะทำเป็นแนวร่องน้ำและคันกั้นน้ำแต่ละต้นไปด้วย เป็นตารางคล้ายคันนาขนาด กว้าง x ยาว ประมาณ 6 x 6 เมตร

2. การให้น้ำ น้ำที่ใช้จะถูกส่งมาตามรางคอนกรีต ซึ่งมาจากจุดให้น้ำของหมู่บ้าน มีเครื่องสูบน้ำมาเก็บไว้ มีหัวหน้าหมู่บ้านเป็นผู้ควบคุมดูแลการจ่ายน้ำ ซึ่งจะกำหนดจ่ายให้ทุกสวน ทุก 5 วัน และทุก 3 สัปดาห์ ในฤดูหนาว โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายน้ำ เมื่อไหลเข้ามาตามรางในสวนจะถูกปล่อยไปตามต้นต่างๆ ตามร่องที่เตรียมไว้

3. การใส่ปุ๋ย หลังจากเก็บผลแล้วจะมีการใส่ปุ๋ยยูเรีย 1 ครั้ง ต้นละประมาณ 3 กิโลกรัม หว่านทั่วใต้ต้น และให้ปุ๋ยคอกต้นละประมาณ 30 กิโลกรัม (1 กระสอบ) 1 ครั้ง ต่อปี หลังจากให้ปุ๋ยยูเรียแล้วประมาณ 10 วัน

4. การตัดแต่งใบ จะมีการตัดแต่งทางใบ โดยใช้เลื่อยที่มีลักษณะคล้ายเคียว ผู้ตัดจะปีนขึ้นบนต้นไปตัดทางใบที่แก่แล้วทิ้งไป ต้นละประมาณ 2-3 ทางใบ ทางใบที่ตัดออกมาจะใช้ในการทำรั้วหรือทำฟืน ขณะเดียวกันจะตัดหน่อที่แตกออกมาที่กลางต้น หรือใกล้ๆ ยอดออกด้วย ทำให้ต้นสะอาดเป็นการป้องกันแมลงศัตรูที่อาจมารบกวนได้ และทำให้การป้องกันสัตว์ที่มากัดกินผลได้ง่ายด้วย

5. การป้องกันกำจัดโรคแมลงและศัตรูอื่นๆ ไม่มีการป้องกันกำจัดโรคแมลง เนื่องจากไม่มีการระบาดของศัตรูดังกล่าว แต่มีนกหรือหนู หรือกระรอกมารบกวนกัดกินผล โดยเฉพาะในช่วงที่ผลใกล้แก่ เกษตรกรจะใช้วิธีการยิงด้วยหนังสติ๊ก หรือปืนลม


การออกดอกติดผล
1. การออกดอก เดือนมกราคมจะเริ่มออกดอก ต้นหนึ่งจะมีช่อดอกประมาณ 5-11 ช่อ และจะบานประมาณปลายเดือนมกราคมเป็นต้นไป โดยทยอยบานทุกๆ 5 วัน เกษตรกรจะนำเกสรตัวผู้โดยตัดจากช่อดอกตัวผู้ที่มีอยู่ในสวน ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมใช้พันธุ์ Khori และ Bahani (สวนที่ดูงานจะมีต้นตัวผู้อยู่ 4 ต้น ก็เพียงพอสำหรับผสมกับต้นตัวเมีย ประมาณ 250 ต้น) ดอกตัวผู้สามารถเก็บไว้ใช้ได้โดยนำช่อดอกไปผึ่งแดดให้แห้ง เก็บใส่ถุงพลาสติกใส่ถังปิดฝาไว้ เก็บไว้ได้นานหลายเดือน จะผสมเกสรเสร็จประมาณเดือนมีนาคม หลังจากติดผลแล้ว 3 สัปดาห์ ทะลายที่ติดผลจะค่อยๆ โน้มห้อยลงมาใต้ทางใบทำให้ผลไม่เสียดสีกับหนามเมื่อลมพัด และสะดวกในการเก็บเกี่ยวด้วย ผลจะเริ่มแก่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม บางพันธุ์อาจแก่ก่อนนี้เป็นพันธุ์เบาซึ่งขายได้ราคาดี (เช่น พันธุ์ Battas) ปกติจะเก็บเกี่ยวมากๆ ในเดือนสิงหาคม ระยะตั้งแต่ติดผลจนถึงผลแก่ประมาณ 180-200 วัน แต่ละทะลายจะมีผลติดดกประมาณ 6-8 กิโลกรัม

2. การเก็บเกี่ยว เมื่อผลแก่จะมีสีแดง หรือเหลือง แล้วแต่พันธุ์ มีรสชาติมันและหวาน เกษตรกรจะปีนขึ้นไปโดยใช้เชือกที่ถักแบนๆ โอบรัดไปด้านหลังของเกษตรกรและพันรอบต้น แล้วค่อยๆ ขยับขึ้นไปโดยใช้เท้าเหยียบไปบนต้นที่มีโคนทางใบที่หลงเหลืออยู่จากการตัด ทำให้ขึ้นได้ง่ายมาก เมื่อตัดแล้ววางลงบนตะกร้า หย่อนเชือกลงมาด้านล่าง ผู้ที่อยู่ใต้ต้นจะเป็นผู้เก็บรวบรวมเป็นกอง ปกติต้นหนึ่งๆ จะให้ผลผลิตประมาณ 100-150 กิโลกรัม (ถ้าดูแลดี แต่โดยทั่วไปจะได้น้อยกว่านี้)

3. ราคาจำหน่าย เกษตรจำหน่ายผลอินทผลัมสดในช่วงต้นฤดูกาลประมาณ กิโลกรัมละ 10-15 RO แต่ในช่วงที่ผลผลิตออกมากจะขายได้ประมาณ 0.25-0.35 RO ผลแห้งในท้องตลาดจะจำหน่ายปลีกประมาณ กิโลกรัมละ 0.35-1.0 RO ขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินค้า 4. การแปรรูป เกษตรกรจะนำผลไปผึ่งแดด ประมาณ 7-10 วัน จนผลแห้ง (เนื้อที่เป็นแป้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลทั้งผล) แล้วนำไปล้างน้ำตากแห้งอีกเพียง 1 วัน แล้วบรรจุภาชนะเพื่อจำหน่ายต่อไป การคัดคุณภาพของผลแห้งจะแยกเป็นชนิดที่แยกเป็นผลเดี่ยวๆ ได้จะมีราคาแพง ส่วนผลที่ค่อนข้างจะติดกันจะตักขายเป็นก้อน ราคาจะถูกลง ส่วนชนิดที่เละมากจะนำไปกวนเป็นน้ำหวานสำหรับปรุงอาหาร สำหรับผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพ เกษตรกรจะนำไปผึ่งแดดเก็บไว้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงวัว


ข้อคิดเห็นจากการศึกษาข้อมูลในการปลูกต้นอินทผลัมครั้งนี้ คือ
1. ต้นอินทผลัมเป็นไม้ผลเมืองร้อนแบบทะเลทราย ที่มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าต้องการผลผลิตที่มีคุณภาพจะต้องมีการดูแลรักษาสวนที่ดีด้วย เช่น การให้น้ำจะต้องมีอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอและพอเพียง

2. ผลอินทผลัมสดเมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นผลอินทผลัมแห้งที่มีคุณภาพตาม ธรรมชาติ จะต้องอาศัยสภาพอากาศที่ร้อนและแห้ง (ซึ่งเป็นสภาพของอากาศโดยทั่วไปของกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง) หากเป็นประเทศที่มีความร้อนชื้นเหมือนบ้านเราจะทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่ สมบูรณ์ จะเกิดเชื้อราขึ้นและเน่าในที่สุด

3. ต้นอินทผลัมเป็นต้นไม้ที่มีดอกตัวเมียและตัวผู้แยกอยู่คนละต้น ในการปลูกเพื่อมีการติดผลที่ดีจะต้องปลูกทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมียไว้ใน สวนเพื่อประโยชน์ในการผสมเกสร แต่บางพันธุ์อาจมีการติดผลและมีการพัฒนาของผลได้ดีโดยไม่ต้องมีการผสมเกสร เช่น Naghal แต่ผลที่ได้เนื้อจะบาง

4. เมล็ดของผลอินทผลัมที่ได้หลังจากบริโภคเนื้อแล้ว (โดยการซื้อผลอินทผลัมแห้งจากตลาดทั่วไป) สามารถนำไปเพาะเป็นต้นเพื่อปลูกได้ โอกาสที่จะได้เป็นต้นตัวผู้และต้นตัวเมียมีอย่างละ 50% แม้จะได้ต้นตัวเมียไปปลูกแต่คุณภาพก็จะไม่เหมือนกับต้นแม่ (คุณภาพของเนื้ออาจจะไม่ดีเท่ากับที่เราซื้อมา) เนื่องจากผลอินทผลัมแห้งที่มีจำหน่าย เป็นผลที่ได้จากการผสมเกสรข้ามต้น จึงถือว่าเมล็ดที่ได้เป็นพันธุ์ลูกผสม ซึ่งไม่สามารถเรียกชื่อเดียวกับต้นแม่ได้

5. สำหรับประเทศไทยมีหลายจังหวัดที่มีสภาพภูมิอากาศและสภาพดินที่สามารถปลูกต้น อินทผลัมได้ดี แต่ในช่วงที่ผลผลิตแก่ (ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) เป็นฤดูฝนจะทำให้เกิดปัญหาผลเน่า ดังนั้น แนวทางที่จะผลิตเป็นการค้าสำหรับบ้านเรา คือการคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมจะจำหน่ายผลสด ลักษณะดังกล่าวควรจะมีผลขนาดโต เนื้อกรอบ รสชาติ มัน หวาน เช่น พันธุ์ Hilali พันธุ์ Khalas เมื่อผลแก่จัดสามารถตัดส่งไปจำหน่ายได้เลย ปัจจุบันมีผู้บริโภครู้จักการบริโภคผลอินทผลัมสดมากขึ้นทั้งในประเทศและต่าง ประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย (ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมมีความคุ้นเคยกับการบริโภคผลอินทผลัมสดอยู่ แล้ว) นอกจากนั้น หากผู้ผลิตที่มีเครื่องอบผลไม้ไม่ว่าจะเป็นเครื่องอบพลังแสงอาทิตย์ หรือตู้ความร้อนจากไฟฟ้า หรือแก๊ส ก็สามารถใช้ผลิตผลอินทผลัมแห้งได้ดี ผลอินทผลัมแห้งที่ได้จะมีคุณภาพเช่นเดียวกับที่มาจากประเทศกลุ่มอาหรับด้วย

6. ต้นพันธุ์อินทผลัมที่ดีควรเป็นต้นที่แยกหน่อจากต้นแม่ที่รู้จักชื่อพันธุ์ และมีประวัติการให้ผลผลิตที่ดี แต่การจะสั่งต้นพันธุ์ดังกล่าวจากประเทศผู้ผลิตเข้ามาปลูกอาจจะยุ่งยาก ปัจจุบันมีต้นพันธุ์ที่ผลิตด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue culture) เพื่อการจำหน่ายแล้วในหลายประเทศ เช่น อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สามารถสั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ตได้ การขนส่งทางไปรษณีย์ทำได้สะดวกและรวดเร็ว จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรไทยที่จะได้ทดลองผลิตพืชใหม่ที่อาจจะ เป็นพืชที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคตก็เป็นได้


ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ โทร. 0-2940-6116
ที่มา ศูนย์สารสนเทศ ict40@doae.go.th
Saturday, July 23, 2011

ผลอินทผลัมรุ่นปี 2554



ยินดีต้อนรับสู่สวนประสิทธิ์ผล

ต.เนินปอ อ.สามง่าม จ.พิจิตร

เยี่ยมชมสวน ติดต่อ : ประิสิทธิ์ 089-752-9378

e-mail : intapalumthai@yahoo.com


ผมได้เริ่มทดลองปลูกอินทผลัมมาได้ประมาณ 1 ปีเศษๆ แล้วครับ ผมสนใจผลไม้ชนิดนี้เป็นพิเศษ ด้วยติดใจในรสชาติ อยากปลูกไว้รับประทาน และเป็นความฝันของผม อยากให้อินทผลัมเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากราคาผลสด หรือผลแห้งในตลาดโลก มีราคาสูง เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไทยมีผลไม้มูลค่าสูง คุณค่าทางอาหารสูง ไว้รับประทานเอง หรือเพื่อจำหน่าย เพิ่มรายได้ใ้ห้เกษตรกรอย่างเราๆ ด้วยครับ พืชชนิดนี้จำหน่ายได้ทั้งผลไว้รับประทาน และต้นก็จำหน่ายได้ราคาดี สำหรับปลูกตกแต่งสถานที่ต่างๆ เพื่อความสวยงาม เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก

อินทผลัม เป็นผลไม้ที่ทานได้ทั้งผลสด และผลแห้ง ผลสดจะหวานกรอบ ในบางสายพันธุ์จะมีรสฝาดบ้างเล็กน้อย เมื่อทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่ง ผลจะแห้งและหวานอร่อยมาก เป็นผลไม้พิเศษซึ่งสามารถเชื่อมตัวเองได้ (ผมขอเรียกว่าอย่างนั้นตามที่รู้สึก) เพราะผลจะเปลี่ยนสภาพจากผลสด เป็นผลแห้ง และความหวานจะมากขึ้น เหมือนนำไปเชื่อมเลย ซึ่งหลายๆ คน อาจจะยังไม่ทราบ ว่าผลไม้ชนิดนี้ เป็นอย่างนี้โดยธรรมชาติของมัน ไม่เหมือนผลไม้ชนิดอื่น ซึ่งจะเปลี่ยนจากผลสด แล้วสุกงอม สุดท้าย เน่าเสีย แต่ผลอินทผลัม พิเศษกว่าผลไม้อื่นจริงๆ ตรงที่สามารถเก็บไว้ได้นานมาก โดยไม่เน่าเสีย ด้วยวิธีการทางธรรมชาติของเค้าเอง ในด้านคุณค่าอาหารก็ไม่แพ้ผลไม้ใดใด สมชื่อ "ผลไม้ของพระเจ้า" ตามที่ประเทศตะวันออกกลางเขาเรียกกัน

อินทผลัม เป็นผลไม้ที่นิยมกันในประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม พวกเค้ามีความเชื่อว่าเป็นผลไม้ที่พระเจ้าประทานให้ รับประทานแล้วจะได้บุญ จะนิยมรับประทานกันมากกว่าปกติในช่วงเทศกาลถือศีลอด เพราะเป็นผลไม้ที่ให้สารอาหารทดแทน ด้วยมีคุณค่าอาหารสูงมากในตัวของมันเอง ในกลุ่มประเทศเอเชียอย่างทางบ้านเรา ยังไม่ีค่อยนิยมปลูกและบริโภคกันมากนัก เพราะราคาที่สูง และหารับประทานยาก

ในขณะนี้ยังเป็นแปลงทดลองปลูกอินทผลัม เพื่อรับประทานผลสด และผลแห้ง โดยต้นอินทผลัมทั้งหมด ถูกคัดเลือกสายพันธุ์ฺดี หลากหลายสายพันธุ์จากประเทศแถบตะวันออกกลาง และอเมริกา โดยมีพื้นที่ปลูกประมาณ 50ไร่ รวม 1,250 ต้น กล้าพันธุ์ทั้งหมดได้จากการเพาะเมล็ด จนได้ต้นกล้าที่แข็งแรงเต็มที่ สมบูรณ์พร้อมลงปลูก เพื่อให้ได้ต้นกล้าพันธุ์ที่มีคุณภาพ พร้อมให้ผลผลิตที่ดีและปริมาณที่มาก ตามที่คาดหวัง และตั้งใจไว้ ผมจึงทุ่มเท และเอาใจใส่ การเพาะเลี้ยงต้นไม้เป็นพิเศษ ตั้งแต่การดูแลรักษา จนกระทั่งถึงการให้ปุ๋ยอย่างเคร่งครัด

โดยปกติอินทผลัม จะให้ผล นับตั้งแต่เริ่มปลูกประมาณ 3 ปี ตอนนี้สวนของผม ปลูกมาได้ประมาณ 1 ปีเศษ บางต้นเริ่มแทงดอกออกมาให้เห็น แต่ยังไม่ติดลูก ซึ่งอาจเป็นเพราะต้นยังอายุน้อย พืชประเภทนี้จะแยกเพศครับ ในแต่ละต้นจะมีเพียงเพศเดียว คือตัวผู้ หรือตัวเมีย เพราะฉะนั้น เราจึงไม่สามารถที่จะทราบได้ ว่าต้นไหนเป็นเพศอะไร ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่ามีวิธีการพิสูจน์เพศของพืชชนิดนี้ได้ จึงต้องปลูกผสมกันโดยที่ไม่ทราบเลยว่าต้นไหนเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย เมื่อโตจนถึงวัยเจริญพันธุ์ จะมีดอก ในแต่ละเพศจะผสมเกสร และติดผลเป็นลักษณะทลาย ถ้าดูแลดีๆ สามารถให้ผลได้มากกว่า 200 กก. ต่อต้นเลยทีเดียว

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถพูดคุยกับผมได้ผ่านเวปบอร์ดครับ หรือใครมีข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำดีๆ ไว้เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา ทดลองเพาะปลูกต้นอินทผลัม ผมก็ยินดี และขอบพระคุณมากครับ


ประสิทธิ์ เสาวคนธ์



แปลงเพาะต้นกล้าอินทผลัม พันธุ์สีแดงใหญ่, แดงเล็ก และสีเหลืองใหญ่ พร้อมปลูก


อินทผลัมเพศผู้ ออกดอกแล้วหลายต้น หลังปลูกได้เพียง 1 ปีเศษ นับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับผลผลิตในอนาคต ที่จะได้เก็บผลเร็วขึ้นกว่าที่คาดไว้ ได้บทสรุปเล็กๆ ว่า ต้นอินทผลัม ชอบอยู่ในพื้นที่เขตอากาศร้อน และแล้ง มากกว่าพื้นที่หนาวเย็น แต่ก็ชอบการบำรุงมากๆ ให้ปุ๋ยพอสมควร ให้น้ำสม่ำเสมอทุกวัน ต้นอินทผลัมจะเจริญเติบโตเร็ว ให้ดอกเร็ว ส่วนการติดผล น่าจะเป็นผลได้ในปีถัดไป

Facebook Comments