Saturday, July 23, 2011

อินทผลัม

เมื่อช่วงสัปดาห์นี้ผมได้ดูรายการทีวี เกี่ยวกับการปลูกอินทผลัมทางภาคเหนือ ก็ได้เกิดความสนใจและไอเดีย ที่อยากจะลองปลูกมั่ง

จึงได้ลองศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกอินผลัม และรวบรวมมาแสดงไว้ใน Blog นี้ครับ

ที่มา : http://www.intapalum.com/

อินทผลัมไทย บ้านสวนโกหลัก

การปลูก ขุดหลุมขนาด 50 x 50 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เวลาปลูกควรให้โคนต้นสูงพ้นพื้นดินประมาณฝ่ามือจะทำให้ต้นโตไว ระยะการปลูก 8 x 8 ม. หรือ 8 x 7 ม. จะได้ 25 หรือ 30 ต้นต่อไร่ อินทผลัมชอบแดดจัดๆ ไม่ชอบน้ำขังน้ำแฉะ

การดูแลรักษา การให้น้ำ จะให้น้ำประมาณ 7วันต่อครั้ง หรือตามระดับความชื้นของดินที่ปลูก อินทผลัมควรมีการให้น้ำอย่างเพียงพอสม่ำเสมอ จะได้อินทผลัมที่ติดลูกเร็วขึ้นและมีคุณภาพดี

การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยคอกจะให้ประมาณ 5 กก.ต่อต้น ปีละ 2 ครั้ง พร้อมกับการพรวนดินและกำจัดวัชพืชรอบๆต้น

การตัดแต่งใบ ใบอินทผลัมที่แก่จะแห้ง ควรตัดทิ้ง เพื่อทำให้สะดวกในการปฏิบัติงาน และทรงต้นสะอาด รวมทั้งป้องกันแมลงที่จะมารบกวน ปัญหาโรคแมลงยังมีน้อยมาก

การเก็บเกี่ยว จะดูที่สีของผลอินทผลัม ถ้าผลมีสีเหลืองเข้มมากหรือมีผลสุก 5-10 % สีน้ำตาลก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ลักษณะของผลจะมีลักษณะ กลมรี ออกผลเป็นพวงหรือทะลาย การพัฒนาของผลจะมี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะผลดิบ, ระยะผลสมบูรณ์เต็มที่, ระยะผลสุกแก่ และระยะผลแห้ง ระยะเวลาตั้งแต่ออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 7-8 เดือน
การเก็บรักษา หากเก็บผลอินทผลัมที่สุกแก่ไว้ในที่อุณหภูมิ 8 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้นานถึง 1 ปี

การผสมเกสร ถ้าต้นชิดกันเรื่องการผสมเกสร จะมีแมลงหรือลมพัดมาช่วยผสมเกสร ถ้าจะให้ติดลูกดกทุกเมล็ดต้องช่วยในการผสม

เทคนิคการผสมเกสรให้ติดลูกดก
การเก็บเกสรตัวผู้ เพื่อเก็บสำรองเพื่อช่วยในการผสมเกสรตัวเมียเพื่อให้ติดลูกดกขึ้น ตอนออกดอกสังเกตได้โดยจะเห็นจั่นแทงออกมา เวลาจั่นแตก จะเห็นดอกข้างในเป็นดอกที่มีกลีบดอกเป็นแฉกๆ เหมือนหางกระรอก ให้นำถุงพลาสติกคลุมดอกแล้วเขย่า จะได้ฝุ่นละอองเกสรตกลงมา พอได้ละอองเกสร ให้นำมาเก็บไว้ใส่ถุงไล่อากาศออก ปิดห่อไว้ให้มิดชิด แล้วนำไปเก็บไว้ในตู้เย็น(ช่องธรรมดา) รอนำมาใช้ผสมเกสร

สำหรับเกสรตัวเมีย ต้นตัวเมียจะออกดอกเป็นจั่นเหมือนต้นตัวผู้ แต่เวลาจั่นแตก ดอกของต้นตัวเมียจะมี ดอกเป็นเม็ดกลมๆ เป็นช่อ พอจั่นเริ่มแตก ให้นำละอองเกสรตัวผู้ที่เก็บไว้ในตู้เย็น นำมาผสมเกสร เวลาผสมเกสรใช้เกสรตัวผู้ประมาณ 1/3 ช้อนชา ต่อ 1 ช่อดอก นำเกสรตัวผู้ใส่ถุงพสาติกเขย่าเกสรให้ฟุ้งอยู่ในถุง แล้วนำไปครอบช่อจั่นดอกตัวเมียแล้วเขย่าให้ละอองเกสรผสมกัน และควรผสม ซ้ำต่ออีกประมาณ 1-2 วัน สำหรับครั้งหลังไม่ต้องใช้เกสรมาก

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการผสมเกสรคือ ประมาณ 10 โมงเช้า เนื่องจากอากาศจะไม่ชื้นและร้อนจนเกินไป


การดูแลเพาะปลูก อินทผลัม KL1. (แม่โจ้ 36)

ปีที่ 1
- เมื่อปลูกแล้ว 1 เดือน ควรใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งการแตกยอด เช่นปุ๋ยสูตร 27-5-5 หรือสูตร 15-15-15 2 เดือนครั้งเพื่อให้โตเร็ว หรือใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปีละ 1 ครั้ง โดนใส่ห่างจากลำต้น 1 ศอก
- ฤดูฝนไม่จำเป็นต้องให้น้ำ ฤดูแล้งควรให้น้ำทุกๆ 7-10 วัน
- การดูแลรักษาอย่างดีจะออกดอกติดผลบ้าง แต่ส่วนใหญ่ตัวผู้จะออกดอกได้ง่ายกว่าตัวเมีย สามารถปล่อยให้ติดผลได้ ไม่ต้องกลัวต้นโทรมเพราะระบบรากหาอาหารเก่ง

ปีที่ 2
- เป็นปีที่จะเริ่มออกดอกติดผล ควรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือ ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น มูลค้างคาว มูลไก่ ใส่ต้นฤดูฝน เมื่อถึงปลายฤดูฝน เดือน ตุลาคม ควรใส่ปุ๋ยสะสมอาหาร เช่นปุ๋ยสูตร 8-24-24 ถ้าเขตฝนชุกควรใส่ปุ๋ยสูตร 0-46-60 เพื่อให้ออกดอกมาก ถ้าปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์อีกครั้งแล้วหยุดให้น้ำ อินทผลัมจะเริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนธันวาคม-มีนาคม
- อินทผลัมจะมีหน่อบ้างเมื่อบำรุงรักษาดี ควรตัดหนามออก ใช้มีดเจาะและหักทั้งเพื่อให้ต้นแม่สะสมอาหาร ทำให้ติดดอกออกผลง่ายและดก
- เมื่อติดดอกควรช่วยผสมเกสร เพื่อให้ติดลูกดกกว่าแบบธรรมชาติหลายเท่า และควรให้น้ำบ้างเมื่อติดผล

ปีที่ 3
ปฏิบัติเช่นเดียวกับปีที่ 2 ไม่เน้นการใช้ปุ๋ยเร่งต้นแต่เน้นการสะสมอาหาร เนื่องจากบ้านเราฝนชุก จะทำให้ต้นโตเร็ว เมื่อติดผลควรมีการช่วยค้ำยันทะลายอินทผลัม เพื่อไม่ให้ก้านลูกหักและติดดินเนื่องจากติดผลดกเกินธรรมชาติของต้นเมื่อมีการช่วยผสมเกสร

ข้อดีของหน่อติดต้น
- เมื่อจะทำการขยายพันธุ์ ตรงตามต้นแม่ ต้นตัวผู้หน่อพันธุ์เมื่อนำไปปลูกก็เป็นตัวผู้ ต้นตัวเมียหน่อก็เป็นตัวเมีย เมื่ออินทผลัมโตจะไม่มีหน่อ หรืออาจมีบ้างควรเจาะทิ้ง
ข้อเสียของหน่อพันธุ์ติดต้น
- ทำให้แย่งอาหารจากต้นแม่ ทำให้ออกดอกติดผลช้าถึงออกลูกจะไม่ดก ถ้าปล่อยให้นานจะทำให้แยกจากต้นแม่ได้ยาก
- ต้องใช้วัตถุฟอกหน่อเพื่อให้ออกรากจึงจะเจาะแยกนำไปอนุบาลได้ ซึ่งใช้ระยะเวลานาน
- หน่อพันธุ์เมื่อนำไปเลี้ยงต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 18-24 เดือน ถึงจะนำไปเพาะปลูกได้เมื่อรวมระยะเวลาการออกหน่อถึงนำไปปลูก จะใช้ระยะเวลา 3 ปีขึ้นไป โอกาสที่นำมาอนุบาลเลี้ยงต้นเน่าและตายได้ง่าย

ข้อควรระวัง
หมั่นตรวจสอบด้วงพร้าวตามยอดหรือลำต้นส่วนมากเขตปลูกมะพร้าว ควรทำความสะอาดลำต้นและตัดใบแก่จัดแห้งทิ้ง ไม่เป็นที่วางไข่ด้วงพร้าว อาจะใช้สารจุลินทรีย์ชีวภาพราด เช่น อี.เอ็ม. เพื่อให้ขุยเยื่อเน่าสลายง่าย ไม่เป็นที่วางไข่ด้วง หรือใช้ยาหว่านเช่น ฟูราดานในเขตที่มีหนอนมะพร้าวระบาดมากหว่านปีละ 2 ครั้ง

โรคเชื้อรา
- เมื่อมีเชื้อราควรใช้ยาเชื้อราพื้นๆที่ไม่มีอันตรายฉีดพ่น เมื่อบำรุงรักษาดีต้นแข็งแรงจะไม่ค่อยมีแมลง
- เนื่องจากบ้านเรามีการปลูกพืชหลายชนิดจะมีเพลี้ยอ่อนๆ เพลี้ยไฟและไรบ้าง อาจใช้สารเคมีบ้างตอนลูกเล็กๆ
- เมื่อติดผลเริ่มออกสีควรห่อช่อผลด้วยกระดาษหนาๆห่อ เช่นกระดาษคาบอน หรือใช้กระดาษธรรมดาห่อและใช้กระสอบปุ๋ยเก่าหรือพลาสติกห่อด้านนอกให้มีการระบายอากาศด้วยเพื่อป้องกัน น้ำฝน นก หนู แมลง และทำให้ผลสีเหลืองอ่อนน่ารับประทาน
- ควรเก็บเกี่ยวเมื่อมีผลสุก 5% หรือชิมตามที่ชอบถึงเก็บเกี่ยว นำเข้าห้องเย็น 0 องศา อยู่ได้นานหลายเดือน ถ้าชอบทานสุกปล่อยให้สุกเหมือนกล้วย นำไปอบหรือตากจะหวานธรรมชาติ เก็บในตู้เย็นธรรมดาได้นานเป็นปี

การศึกษาวิจัยด้านต่างๆของสวน
- การเพาะปลูกแบบไม้แคระ (บอนไซ) เพื่อการนำไปประดับบ้านและทานผลได้
- การทำน้ำสมุนไพรเกสรตัวผู้ ในต่างประเทศแถบตะวันออกกลางนิยมมาก มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวของดอกอินทผลัมซึ่งหอมนุ่มนวล บรรจุในต่างประเทศ 250 c.c. ราคาถึง 1,500 บาท ผู้ชายและผู้หญิงดื่มได้ โดยเฉพาะคุณผู้ชาย
- เกสรดอกตัวผู้ สามารถทำเป็นยาสมุนไพรได้ เช่น ทานได้ถึงครึ่งช้อนกาแฟ 4-5 วัน จะช่วยขับไขมันในลำไส้ออกมาได้ โดยถ่ายเป็นปกติและไขมันจะติดออกมา และยังใช้เป็นยาลดไขมันในเส้นเลือด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิจัย
- การทำให้อินทผลัมออกได้ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งต่างประเทศปีละครั้ง
- การทดลองเพาะเนื้อเยื่อ ซึ่งพืชตระกูลปาล์มทำได้ยาก
- การศึกษาในการผสมพันธุ์อินทผลัม K.L. (แม่โจ้ 36) ให้เป็นต้นกระเทย (ต้นตัวผู้และตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน) ทำให้ง่ายต่อการนำไปปลูก ซึ่งเป็นการค้นพบโดยบังเอิญ ซึ่งทำได้ยากมาก คาดว่าจะสำเร็จใน 4-5 ปีข้างหน้า

เนื่องจากในต่างประเทศไม่มีข้อมูลและตำราศึกษา บ้านสวนโกหลักได้พยายามศึกษาและวิเคราะห์ เก็บข้อมูลรวบรวมจะออกเป็นตำราเพื่อได้ศึกษา ซึ่งในแต่ละเรื่องใช้ระยะเวลา 2-3 ปี ทำการเปรียบเทียบคาดว่าจะสำเร็จ 6-7 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นของประเทศไทย

0 comments:

Post a Comment

Facebook Comments