Sunday, July 24, 2011
อินทผลัม ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phaenix sp.
ชื่อวงศ์ : Palmae (Arecaceae)
ชื่อสามัญ : Date Palm


การปลูก
1. ต้นที่ปลูกจะใช้วิธีการแยกหน่อจากต้นใหญ่ (ตัวเมีย) โดยเลือกต้นแม่ที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป หน่อมีขนาดใหญ่ดีกว่าขนาดเล็ก เมื่อตัดจากต้นแม่แล้วจะมัดรวบใบไว้ก่อน (ควรใช้หน่อที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 นิ้ว ขึ้นไป) ราคาต้นพันธุ์ประมาณ 15-20 RO ขึ้นอยู่กับพันธุ์ (ประมาณ 1,500-2,000 บาท ; 1 RO = 100 บาท)

2. เมื่อปลูกแล้วประมาณ 3 ปี จะเริ่มให้ผลผลิต 3. การปลูกจะขุดหลุม ขนาด 0.8 x 0.8 x 0.8 เมตร ปลูกให้หน่ออยู่ลึกลงไปในหลุม และหน่อจะลึกลงไปในดินประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถเก็บน้ำไว้สำหรับต้นที่ปลูกใหม่ได้ดี ระยะปลูกใหม่ยังไม่ให้ปุ๋ย ให้เหลือเพียงแต่น้ำทุก 5 วัน เมื่อตั้งตัวแล้วประมาณ 1 เดือน จึงจะเริ่มให้ปุ๋ยคอก ต้นละประมาณ 2 กิโลกรัม ในการปลูกระยะแรกจะยังคงมัดรวบใบไว้จนกว่าต้นจะฟื้นและตั้งตัวได้ จึงจะตัดเชือกที่ผูกออก วิธีการนี้จะใช้กับการย้ายต้นใหญ่ๆ ไปปลูกที่อื่นด้วย จะช่วยให้ต้นรอดตายมาก

การดูแลรักษา
1. การปรับพื้นดิน ในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วทุกปี (ประมาณเดือนกันยายน) จะมีการใช้รถไถเดินตามไถพรวนพื้นที่ใต้ต้นซึ่งสภาพดินส่วนใหญ่จะเป็นทราย เป็นการกำจัดวัชพืชไปในตัว ขณะเดียวกันก็จะทำเป็นแนวร่องน้ำและคันกั้นน้ำแต่ละต้นไปด้วย เป็นตารางคล้ายคันนาขนาด กว้าง x ยาว ประมาณ 6 x 6 เมตร

2. การให้น้ำ น้ำที่ใช้จะถูกส่งมาตามรางคอนกรีต ซึ่งมาจากจุดให้น้ำของหมู่บ้าน มีเครื่องสูบน้ำมาเก็บไว้ มีหัวหน้าหมู่บ้านเป็นผู้ควบคุมดูแลการจ่ายน้ำ ซึ่งจะกำหนดจ่ายให้ทุกสวน ทุก 5 วัน และทุก 3 สัปดาห์ ในฤดูหนาว โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายน้ำ เมื่อไหลเข้ามาตามรางในสวนจะถูกปล่อยไปตามต้นต่างๆ ตามร่องที่เตรียมไว้

3. การใส่ปุ๋ย หลังจากเก็บผลแล้วจะมีการใส่ปุ๋ยยูเรีย 1 ครั้ง ต้นละประมาณ 3 กิโลกรัม หว่านทั่วใต้ต้น และให้ปุ๋ยคอกต้นละประมาณ 30 กิโลกรัม (1 กระสอบ) 1 ครั้ง ต่อปี หลังจากให้ปุ๋ยยูเรียแล้วประมาณ 10 วัน

4. การตัดแต่งใบ จะมีการตัดแต่งทางใบ โดยใช้เลื่อยที่มีลักษณะคล้ายเคียว ผู้ตัดจะปีนขึ้นบนต้นไปตัดทางใบที่แก่แล้วทิ้งไป ต้นละประมาณ 2-3 ทางใบ ทางใบที่ตัดออกมาจะใช้ในการทำรั้วหรือทำฟืน ขณะเดียวกันจะตัดหน่อที่แตกออกมาที่กลางต้น หรือใกล้ๆ ยอดออกด้วย ทำให้ต้นสะอาดเป็นการป้องกันแมลงศัตรูที่อาจมารบกวนได้ และทำให้การป้องกันสัตว์ที่มากัดกินผลได้ง่ายด้วย

5. การป้องกันกำจัดโรคแมลงและศัตรูอื่นๆ ไม่มีการป้องกันกำจัดโรคแมลง เนื่องจากไม่มีการระบาดของศัตรูดังกล่าว แต่มีนกหรือหนู หรือกระรอกมารบกวนกัดกินผล โดยเฉพาะในช่วงที่ผลใกล้แก่ เกษตรกรจะใช้วิธีการยิงด้วยหนังสติ๊ก หรือปืนลม


การออกดอกติดผล
1. การออกดอก เดือนมกราคมจะเริ่มออกดอก ต้นหนึ่งจะมีช่อดอกประมาณ 5-11 ช่อ และจะบานประมาณปลายเดือนมกราคมเป็นต้นไป โดยทยอยบานทุกๆ 5 วัน เกษตรกรจะนำเกสรตัวผู้โดยตัดจากช่อดอกตัวผู้ที่มีอยู่ในสวน ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมใช้พันธุ์ Khori และ Bahani (สวนที่ดูงานจะมีต้นตัวผู้อยู่ 4 ต้น ก็เพียงพอสำหรับผสมกับต้นตัวเมีย ประมาณ 250 ต้น) ดอกตัวผู้สามารถเก็บไว้ใช้ได้โดยนำช่อดอกไปผึ่งแดดให้แห้ง เก็บใส่ถุงพลาสติกใส่ถังปิดฝาไว้ เก็บไว้ได้นานหลายเดือน จะผสมเกสรเสร็จประมาณเดือนมีนาคม หลังจากติดผลแล้ว 3 สัปดาห์ ทะลายที่ติดผลจะค่อยๆ โน้มห้อยลงมาใต้ทางใบทำให้ผลไม่เสียดสีกับหนามเมื่อลมพัด และสะดวกในการเก็บเกี่ยวด้วย ผลจะเริ่มแก่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม บางพันธุ์อาจแก่ก่อนนี้เป็นพันธุ์เบาซึ่งขายได้ราคาดี (เช่น พันธุ์ Battas) ปกติจะเก็บเกี่ยวมากๆ ในเดือนสิงหาคม ระยะตั้งแต่ติดผลจนถึงผลแก่ประมาณ 180-200 วัน แต่ละทะลายจะมีผลติดดกประมาณ 6-8 กิโลกรัม

2. การเก็บเกี่ยว เมื่อผลแก่จะมีสีแดง หรือเหลือง แล้วแต่พันธุ์ มีรสชาติมันและหวาน เกษตรกรจะปีนขึ้นไปโดยใช้เชือกที่ถักแบนๆ โอบรัดไปด้านหลังของเกษตรกรและพันรอบต้น แล้วค่อยๆ ขยับขึ้นไปโดยใช้เท้าเหยียบไปบนต้นที่มีโคนทางใบที่หลงเหลืออยู่จากการตัด ทำให้ขึ้นได้ง่ายมาก เมื่อตัดแล้ววางลงบนตะกร้า หย่อนเชือกลงมาด้านล่าง ผู้ที่อยู่ใต้ต้นจะเป็นผู้เก็บรวบรวมเป็นกอง ปกติต้นหนึ่งๆ จะให้ผลผลิตประมาณ 100-150 กิโลกรัม (ถ้าดูแลดี แต่โดยทั่วไปจะได้น้อยกว่านี้)

3. ราคาจำหน่าย เกษตรจำหน่ายผลอินทผลัมสดในช่วงต้นฤดูกาลประมาณ กิโลกรัมละ 10-15 RO แต่ในช่วงที่ผลผลิตออกมากจะขายได้ประมาณ 0.25-0.35 RO ผลแห้งในท้องตลาดจะจำหน่ายปลีกประมาณ กิโลกรัมละ 0.35-1.0 RO ขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินค้า 4. การแปรรูป เกษตรกรจะนำผลไปผึ่งแดด ประมาณ 7-10 วัน จนผลแห้ง (เนื้อที่เป็นแป้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลทั้งผล) แล้วนำไปล้างน้ำตากแห้งอีกเพียง 1 วัน แล้วบรรจุภาชนะเพื่อจำหน่ายต่อไป การคัดคุณภาพของผลแห้งจะแยกเป็นชนิดที่แยกเป็นผลเดี่ยวๆ ได้จะมีราคาแพง ส่วนผลที่ค่อนข้างจะติดกันจะตักขายเป็นก้อน ราคาจะถูกลง ส่วนชนิดที่เละมากจะนำไปกวนเป็นน้ำหวานสำหรับปรุงอาหาร สำหรับผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพ เกษตรกรจะนำไปผึ่งแดดเก็บไว้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงวัว


ข้อคิดเห็นจากการศึกษาข้อมูลในการปลูกต้นอินทผลัมครั้งนี้ คือ
1. ต้นอินทผลัมเป็นไม้ผลเมืองร้อนแบบทะเลทราย ที่มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าต้องการผลผลิตที่มีคุณภาพจะต้องมีการดูแลรักษาสวนที่ดีด้วย เช่น การให้น้ำจะต้องมีอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอและพอเพียง

2. ผลอินทผลัมสดเมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นผลอินทผลัมแห้งที่มีคุณภาพตาม ธรรมชาติ จะต้องอาศัยสภาพอากาศที่ร้อนและแห้ง (ซึ่งเป็นสภาพของอากาศโดยทั่วไปของกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง) หากเป็นประเทศที่มีความร้อนชื้นเหมือนบ้านเราจะทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่ สมบูรณ์ จะเกิดเชื้อราขึ้นและเน่าในที่สุด

3. ต้นอินทผลัมเป็นต้นไม้ที่มีดอกตัวเมียและตัวผู้แยกอยู่คนละต้น ในการปลูกเพื่อมีการติดผลที่ดีจะต้องปลูกทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมียไว้ใน สวนเพื่อประโยชน์ในการผสมเกสร แต่บางพันธุ์อาจมีการติดผลและมีการพัฒนาของผลได้ดีโดยไม่ต้องมีการผสมเกสร เช่น Naghal แต่ผลที่ได้เนื้อจะบาง

4. เมล็ดของผลอินทผลัมที่ได้หลังจากบริโภคเนื้อแล้ว (โดยการซื้อผลอินทผลัมแห้งจากตลาดทั่วไป) สามารถนำไปเพาะเป็นต้นเพื่อปลูกได้ โอกาสที่จะได้เป็นต้นตัวผู้และต้นตัวเมียมีอย่างละ 50% แม้จะได้ต้นตัวเมียไปปลูกแต่คุณภาพก็จะไม่เหมือนกับต้นแม่ (คุณภาพของเนื้ออาจจะไม่ดีเท่ากับที่เราซื้อมา) เนื่องจากผลอินทผลัมแห้งที่มีจำหน่าย เป็นผลที่ได้จากการผสมเกสรข้ามต้น จึงถือว่าเมล็ดที่ได้เป็นพันธุ์ลูกผสม ซึ่งไม่สามารถเรียกชื่อเดียวกับต้นแม่ได้

5. สำหรับประเทศไทยมีหลายจังหวัดที่มีสภาพภูมิอากาศและสภาพดินที่สามารถปลูกต้น อินทผลัมได้ดี แต่ในช่วงที่ผลผลิตแก่ (ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) เป็นฤดูฝนจะทำให้เกิดปัญหาผลเน่า ดังนั้น แนวทางที่จะผลิตเป็นการค้าสำหรับบ้านเรา คือการคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมจะจำหน่ายผลสด ลักษณะดังกล่าวควรจะมีผลขนาดโต เนื้อกรอบ รสชาติ มัน หวาน เช่น พันธุ์ Hilali พันธุ์ Khalas เมื่อผลแก่จัดสามารถตัดส่งไปจำหน่ายได้เลย ปัจจุบันมีผู้บริโภครู้จักการบริโภคผลอินทผลัมสดมากขึ้นทั้งในประเทศและต่าง ประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย (ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมมีความคุ้นเคยกับการบริโภคผลอินทผลัมสดอยู่ แล้ว) นอกจากนั้น หากผู้ผลิตที่มีเครื่องอบผลไม้ไม่ว่าจะเป็นเครื่องอบพลังแสงอาทิตย์ หรือตู้ความร้อนจากไฟฟ้า หรือแก๊ส ก็สามารถใช้ผลิตผลอินทผลัมแห้งได้ดี ผลอินทผลัมแห้งที่ได้จะมีคุณภาพเช่นเดียวกับที่มาจากประเทศกลุ่มอาหรับด้วย

6. ต้นพันธุ์อินทผลัมที่ดีควรเป็นต้นที่แยกหน่อจากต้นแม่ที่รู้จักชื่อพันธุ์ และมีประวัติการให้ผลผลิตที่ดี แต่การจะสั่งต้นพันธุ์ดังกล่าวจากประเทศผู้ผลิตเข้ามาปลูกอาจจะยุ่งยาก ปัจจุบันมีต้นพันธุ์ที่ผลิตด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue culture) เพื่อการจำหน่ายแล้วในหลายประเทศ เช่น อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สามารถสั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ตได้ การขนส่งทางไปรษณีย์ทำได้สะดวกและรวดเร็ว จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรไทยที่จะได้ทดลองผลิตพืชใหม่ที่อาจจะ เป็นพืชที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคตก็เป็นได้


ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ โทร. 0-2940-6116
ที่มา ศูนย์สารสนเทศ ict40@doae.go.th
Saturday, July 23, 2011

ผลอินทผลัมรุ่นปี 2554



ยินดีต้อนรับสู่สวนประสิทธิ์ผล

ต.เนินปอ อ.สามง่าม จ.พิจิตร

เยี่ยมชมสวน ติดต่อ : ประิสิทธิ์ 089-752-9378

e-mail : intapalumthai@yahoo.com


ผมได้เริ่มทดลองปลูกอินทผลัมมาได้ประมาณ 1 ปีเศษๆ แล้วครับ ผมสนใจผลไม้ชนิดนี้เป็นพิเศษ ด้วยติดใจในรสชาติ อยากปลูกไว้รับประทาน และเป็นความฝันของผม อยากให้อินทผลัมเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากราคาผลสด หรือผลแห้งในตลาดโลก มีราคาสูง เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไทยมีผลไม้มูลค่าสูง คุณค่าทางอาหารสูง ไว้รับประทานเอง หรือเพื่อจำหน่าย เพิ่มรายได้ใ้ห้เกษตรกรอย่างเราๆ ด้วยครับ พืชชนิดนี้จำหน่ายได้ทั้งผลไว้รับประทาน และต้นก็จำหน่ายได้ราคาดี สำหรับปลูกตกแต่งสถานที่ต่างๆ เพื่อความสวยงาม เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก

อินทผลัม เป็นผลไม้ที่ทานได้ทั้งผลสด และผลแห้ง ผลสดจะหวานกรอบ ในบางสายพันธุ์จะมีรสฝาดบ้างเล็กน้อย เมื่อทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่ง ผลจะแห้งและหวานอร่อยมาก เป็นผลไม้พิเศษซึ่งสามารถเชื่อมตัวเองได้ (ผมขอเรียกว่าอย่างนั้นตามที่รู้สึก) เพราะผลจะเปลี่ยนสภาพจากผลสด เป็นผลแห้ง และความหวานจะมากขึ้น เหมือนนำไปเชื่อมเลย ซึ่งหลายๆ คน อาจจะยังไม่ทราบ ว่าผลไม้ชนิดนี้ เป็นอย่างนี้โดยธรรมชาติของมัน ไม่เหมือนผลไม้ชนิดอื่น ซึ่งจะเปลี่ยนจากผลสด แล้วสุกงอม สุดท้าย เน่าเสีย แต่ผลอินทผลัม พิเศษกว่าผลไม้อื่นจริงๆ ตรงที่สามารถเก็บไว้ได้นานมาก โดยไม่เน่าเสีย ด้วยวิธีการทางธรรมชาติของเค้าเอง ในด้านคุณค่าอาหารก็ไม่แพ้ผลไม้ใดใด สมชื่อ "ผลไม้ของพระเจ้า" ตามที่ประเทศตะวันออกกลางเขาเรียกกัน

อินทผลัม เป็นผลไม้ที่นิยมกันในประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม พวกเค้ามีความเชื่อว่าเป็นผลไม้ที่พระเจ้าประทานให้ รับประทานแล้วจะได้บุญ จะนิยมรับประทานกันมากกว่าปกติในช่วงเทศกาลถือศีลอด เพราะเป็นผลไม้ที่ให้สารอาหารทดแทน ด้วยมีคุณค่าอาหารสูงมากในตัวของมันเอง ในกลุ่มประเทศเอเชียอย่างทางบ้านเรา ยังไม่ีค่อยนิยมปลูกและบริโภคกันมากนัก เพราะราคาที่สูง และหารับประทานยาก

ในขณะนี้ยังเป็นแปลงทดลองปลูกอินทผลัม เพื่อรับประทานผลสด และผลแห้ง โดยต้นอินทผลัมทั้งหมด ถูกคัดเลือกสายพันธุ์ฺดี หลากหลายสายพันธุ์จากประเทศแถบตะวันออกกลาง และอเมริกา โดยมีพื้นที่ปลูกประมาณ 50ไร่ รวม 1,250 ต้น กล้าพันธุ์ทั้งหมดได้จากการเพาะเมล็ด จนได้ต้นกล้าที่แข็งแรงเต็มที่ สมบูรณ์พร้อมลงปลูก เพื่อให้ได้ต้นกล้าพันธุ์ที่มีคุณภาพ พร้อมให้ผลผลิตที่ดีและปริมาณที่มาก ตามที่คาดหวัง และตั้งใจไว้ ผมจึงทุ่มเท และเอาใจใส่ การเพาะเลี้ยงต้นไม้เป็นพิเศษ ตั้งแต่การดูแลรักษา จนกระทั่งถึงการให้ปุ๋ยอย่างเคร่งครัด

โดยปกติอินทผลัม จะให้ผล นับตั้งแต่เริ่มปลูกประมาณ 3 ปี ตอนนี้สวนของผม ปลูกมาได้ประมาณ 1 ปีเศษ บางต้นเริ่มแทงดอกออกมาให้เห็น แต่ยังไม่ติดลูก ซึ่งอาจเป็นเพราะต้นยังอายุน้อย พืชประเภทนี้จะแยกเพศครับ ในแต่ละต้นจะมีเพียงเพศเดียว คือตัวผู้ หรือตัวเมีย เพราะฉะนั้น เราจึงไม่สามารถที่จะทราบได้ ว่าต้นไหนเป็นเพศอะไร ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่ามีวิธีการพิสูจน์เพศของพืชชนิดนี้ได้ จึงต้องปลูกผสมกันโดยที่ไม่ทราบเลยว่าต้นไหนเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย เมื่อโตจนถึงวัยเจริญพันธุ์ จะมีดอก ในแต่ละเพศจะผสมเกสร และติดผลเป็นลักษณะทลาย ถ้าดูแลดีๆ สามารถให้ผลได้มากกว่า 200 กก. ต่อต้นเลยทีเดียว

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถพูดคุยกับผมได้ผ่านเวปบอร์ดครับ หรือใครมีข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำดีๆ ไว้เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา ทดลองเพาะปลูกต้นอินทผลัม ผมก็ยินดี และขอบพระคุณมากครับ


ประสิทธิ์ เสาวคนธ์



แปลงเพาะต้นกล้าอินทผลัม พันธุ์สีแดงใหญ่, แดงเล็ก และสีเหลืองใหญ่ พร้อมปลูก


อินทผลัมเพศผู้ ออกดอกแล้วหลายต้น หลังปลูกได้เพียง 1 ปีเศษ นับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับผลผลิตในอนาคต ที่จะได้เก็บผลเร็วขึ้นกว่าที่คาดไว้ ได้บทสรุปเล็กๆ ว่า ต้นอินทผลัม ชอบอยู่ในพื้นที่เขตอากาศร้อน และแล้ง มากกว่าพื้นที่หนาวเย็น แต่ก็ชอบการบำรุงมากๆ ให้ปุ๋ยพอสมควร ให้น้ำสม่ำเสมอทุกวัน ต้นอินทผลัมจะเจริญเติบโตเร็ว ให้ดอกเร็ว ส่วนการติดผล น่าจะเป็นผลได้ในปีถัดไป

อินทผลัม

เมื่อช่วงสัปดาห์นี้ผมได้ดูรายการทีวี เกี่ยวกับการปลูกอินทผลัมทางภาคเหนือ ก็ได้เกิดความสนใจและไอเดีย ที่อยากจะลองปลูกมั่ง

จึงได้ลองศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกอินผลัม และรวบรวมมาแสดงไว้ใน Blog นี้ครับ

ที่มา : http://www.intapalum.com/

อินทผลัมไทย บ้านสวนโกหลัก

การปลูก ขุดหลุมขนาด 50 x 50 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เวลาปลูกควรให้โคนต้นสูงพ้นพื้นดินประมาณฝ่ามือจะทำให้ต้นโตไว ระยะการปลูก 8 x 8 ม. หรือ 8 x 7 ม. จะได้ 25 หรือ 30 ต้นต่อไร่ อินทผลัมชอบแดดจัดๆ ไม่ชอบน้ำขังน้ำแฉะ

การดูแลรักษา การให้น้ำ จะให้น้ำประมาณ 7วันต่อครั้ง หรือตามระดับความชื้นของดินที่ปลูก อินทผลัมควรมีการให้น้ำอย่างเพียงพอสม่ำเสมอ จะได้อินทผลัมที่ติดลูกเร็วขึ้นและมีคุณภาพดี

การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยคอกจะให้ประมาณ 5 กก.ต่อต้น ปีละ 2 ครั้ง พร้อมกับการพรวนดินและกำจัดวัชพืชรอบๆต้น

การตัดแต่งใบ ใบอินทผลัมที่แก่จะแห้ง ควรตัดทิ้ง เพื่อทำให้สะดวกในการปฏิบัติงาน และทรงต้นสะอาด รวมทั้งป้องกันแมลงที่จะมารบกวน ปัญหาโรคแมลงยังมีน้อยมาก

การเก็บเกี่ยว จะดูที่สีของผลอินทผลัม ถ้าผลมีสีเหลืองเข้มมากหรือมีผลสุก 5-10 % สีน้ำตาลก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ลักษณะของผลจะมีลักษณะ กลมรี ออกผลเป็นพวงหรือทะลาย การพัฒนาของผลจะมี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะผลดิบ, ระยะผลสมบูรณ์เต็มที่, ระยะผลสุกแก่ และระยะผลแห้ง ระยะเวลาตั้งแต่ออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 7-8 เดือน
การเก็บรักษา หากเก็บผลอินทผลัมที่สุกแก่ไว้ในที่อุณหภูมิ 8 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้นานถึง 1 ปี

การผสมเกสร ถ้าต้นชิดกันเรื่องการผสมเกสร จะมีแมลงหรือลมพัดมาช่วยผสมเกสร ถ้าจะให้ติดลูกดกทุกเมล็ดต้องช่วยในการผสม

เทคนิคการผสมเกสรให้ติดลูกดก
การเก็บเกสรตัวผู้ เพื่อเก็บสำรองเพื่อช่วยในการผสมเกสรตัวเมียเพื่อให้ติดลูกดกขึ้น ตอนออกดอกสังเกตได้โดยจะเห็นจั่นแทงออกมา เวลาจั่นแตก จะเห็นดอกข้างในเป็นดอกที่มีกลีบดอกเป็นแฉกๆ เหมือนหางกระรอก ให้นำถุงพลาสติกคลุมดอกแล้วเขย่า จะได้ฝุ่นละอองเกสรตกลงมา พอได้ละอองเกสร ให้นำมาเก็บไว้ใส่ถุงไล่อากาศออก ปิดห่อไว้ให้มิดชิด แล้วนำไปเก็บไว้ในตู้เย็น(ช่องธรรมดา) รอนำมาใช้ผสมเกสร

สำหรับเกสรตัวเมีย ต้นตัวเมียจะออกดอกเป็นจั่นเหมือนต้นตัวผู้ แต่เวลาจั่นแตก ดอกของต้นตัวเมียจะมี ดอกเป็นเม็ดกลมๆ เป็นช่อ พอจั่นเริ่มแตก ให้นำละอองเกสรตัวผู้ที่เก็บไว้ในตู้เย็น นำมาผสมเกสร เวลาผสมเกสรใช้เกสรตัวผู้ประมาณ 1/3 ช้อนชา ต่อ 1 ช่อดอก นำเกสรตัวผู้ใส่ถุงพสาติกเขย่าเกสรให้ฟุ้งอยู่ในถุง แล้วนำไปครอบช่อจั่นดอกตัวเมียแล้วเขย่าให้ละอองเกสรผสมกัน และควรผสม ซ้ำต่ออีกประมาณ 1-2 วัน สำหรับครั้งหลังไม่ต้องใช้เกสรมาก

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการผสมเกสรคือ ประมาณ 10 โมงเช้า เนื่องจากอากาศจะไม่ชื้นและร้อนจนเกินไป


การดูแลเพาะปลูก อินทผลัม KL1. (แม่โจ้ 36)

ปีที่ 1
- เมื่อปลูกแล้ว 1 เดือน ควรใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งการแตกยอด เช่นปุ๋ยสูตร 27-5-5 หรือสูตร 15-15-15 2 เดือนครั้งเพื่อให้โตเร็ว หรือใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปีละ 1 ครั้ง โดนใส่ห่างจากลำต้น 1 ศอก
- ฤดูฝนไม่จำเป็นต้องให้น้ำ ฤดูแล้งควรให้น้ำทุกๆ 7-10 วัน
- การดูแลรักษาอย่างดีจะออกดอกติดผลบ้าง แต่ส่วนใหญ่ตัวผู้จะออกดอกได้ง่ายกว่าตัวเมีย สามารถปล่อยให้ติดผลได้ ไม่ต้องกลัวต้นโทรมเพราะระบบรากหาอาหารเก่ง

ปีที่ 2
- เป็นปีที่จะเริ่มออกดอกติดผล ควรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือ ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น มูลค้างคาว มูลไก่ ใส่ต้นฤดูฝน เมื่อถึงปลายฤดูฝน เดือน ตุลาคม ควรใส่ปุ๋ยสะสมอาหาร เช่นปุ๋ยสูตร 8-24-24 ถ้าเขตฝนชุกควรใส่ปุ๋ยสูตร 0-46-60 เพื่อให้ออกดอกมาก ถ้าปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์อีกครั้งแล้วหยุดให้น้ำ อินทผลัมจะเริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนธันวาคม-มีนาคม
- อินทผลัมจะมีหน่อบ้างเมื่อบำรุงรักษาดี ควรตัดหนามออก ใช้มีดเจาะและหักทั้งเพื่อให้ต้นแม่สะสมอาหาร ทำให้ติดดอกออกผลง่ายและดก
- เมื่อติดดอกควรช่วยผสมเกสร เพื่อให้ติดลูกดกกว่าแบบธรรมชาติหลายเท่า และควรให้น้ำบ้างเมื่อติดผล

ปีที่ 3
ปฏิบัติเช่นเดียวกับปีที่ 2 ไม่เน้นการใช้ปุ๋ยเร่งต้นแต่เน้นการสะสมอาหาร เนื่องจากบ้านเราฝนชุก จะทำให้ต้นโตเร็ว เมื่อติดผลควรมีการช่วยค้ำยันทะลายอินทผลัม เพื่อไม่ให้ก้านลูกหักและติดดินเนื่องจากติดผลดกเกินธรรมชาติของต้นเมื่อมีการช่วยผสมเกสร

ข้อดีของหน่อติดต้น
- เมื่อจะทำการขยายพันธุ์ ตรงตามต้นแม่ ต้นตัวผู้หน่อพันธุ์เมื่อนำไปปลูกก็เป็นตัวผู้ ต้นตัวเมียหน่อก็เป็นตัวเมีย เมื่ออินทผลัมโตจะไม่มีหน่อ หรืออาจมีบ้างควรเจาะทิ้ง
ข้อเสียของหน่อพันธุ์ติดต้น
- ทำให้แย่งอาหารจากต้นแม่ ทำให้ออกดอกติดผลช้าถึงออกลูกจะไม่ดก ถ้าปล่อยให้นานจะทำให้แยกจากต้นแม่ได้ยาก
- ต้องใช้วัตถุฟอกหน่อเพื่อให้ออกรากจึงจะเจาะแยกนำไปอนุบาลได้ ซึ่งใช้ระยะเวลานาน
- หน่อพันธุ์เมื่อนำไปเลี้ยงต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 18-24 เดือน ถึงจะนำไปเพาะปลูกได้เมื่อรวมระยะเวลาการออกหน่อถึงนำไปปลูก จะใช้ระยะเวลา 3 ปีขึ้นไป โอกาสที่นำมาอนุบาลเลี้ยงต้นเน่าและตายได้ง่าย

ข้อควรระวัง
หมั่นตรวจสอบด้วงพร้าวตามยอดหรือลำต้นส่วนมากเขตปลูกมะพร้าว ควรทำความสะอาดลำต้นและตัดใบแก่จัดแห้งทิ้ง ไม่เป็นที่วางไข่ด้วงพร้าว อาจะใช้สารจุลินทรีย์ชีวภาพราด เช่น อี.เอ็ม. เพื่อให้ขุยเยื่อเน่าสลายง่าย ไม่เป็นที่วางไข่ด้วง หรือใช้ยาหว่านเช่น ฟูราดานในเขตที่มีหนอนมะพร้าวระบาดมากหว่านปีละ 2 ครั้ง

โรคเชื้อรา
- เมื่อมีเชื้อราควรใช้ยาเชื้อราพื้นๆที่ไม่มีอันตรายฉีดพ่น เมื่อบำรุงรักษาดีต้นแข็งแรงจะไม่ค่อยมีแมลง
- เนื่องจากบ้านเรามีการปลูกพืชหลายชนิดจะมีเพลี้ยอ่อนๆ เพลี้ยไฟและไรบ้าง อาจใช้สารเคมีบ้างตอนลูกเล็กๆ
- เมื่อติดผลเริ่มออกสีควรห่อช่อผลด้วยกระดาษหนาๆห่อ เช่นกระดาษคาบอน หรือใช้กระดาษธรรมดาห่อและใช้กระสอบปุ๋ยเก่าหรือพลาสติกห่อด้านนอกให้มีการระบายอากาศด้วยเพื่อป้องกัน น้ำฝน นก หนู แมลง และทำให้ผลสีเหลืองอ่อนน่ารับประทาน
- ควรเก็บเกี่ยวเมื่อมีผลสุก 5% หรือชิมตามที่ชอบถึงเก็บเกี่ยว นำเข้าห้องเย็น 0 องศา อยู่ได้นานหลายเดือน ถ้าชอบทานสุกปล่อยให้สุกเหมือนกล้วย นำไปอบหรือตากจะหวานธรรมชาติ เก็บในตู้เย็นธรรมดาได้นานเป็นปี

การศึกษาวิจัยด้านต่างๆของสวน
- การเพาะปลูกแบบไม้แคระ (บอนไซ) เพื่อการนำไปประดับบ้านและทานผลได้
- การทำน้ำสมุนไพรเกสรตัวผู้ ในต่างประเทศแถบตะวันออกกลางนิยมมาก มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวของดอกอินทผลัมซึ่งหอมนุ่มนวล บรรจุในต่างประเทศ 250 c.c. ราคาถึง 1,500 บาท ผู้ชายและผู้หญิงดื่มได้ โดยเฉพาะคุณผู้ชาย
- เกสรดอกตัวผู้ สามารถทำเป็นยาสมุนไพรได้ เช่น ทานได้ถึงครึ่งช้อนกาแฟ 4-5 วัน จะช่วยขับไขมันในลำไส้ออกมาได้ โดยถ่ายเป็นปกติและไขมันจะติดออกมา และยังใช้เป็นยาลดไขมันในเส้นเลือด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิจัย
- การทำให้อินทผลัมออกได้ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งต่างประเทศปีละครั้ง
- การทดลองเพาะเนื้อเยื่อ ซึ่งพืชตระกูลปาล์มทำได้ยาก
- การศึกษาในการผสมพันธุ์อินทผลัม K.L. (แม่โจ้ 36) ให้เป็นต้นกระเทย (ต้นตัวผู้และตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน) ทำให้ง่ายต่อการนำไปปลูก ซึ่งเป็นการค้นพบโดยบังเอิญ ซึ่งทำได้ยากมาก คาดว่าจะสำเร็จใน 4-5 ปีข้างหน้า

เนื่องจากในต่างประเทศไม่มีข้อมูลและตำราศึกษา บ้านสวนโกหลักได้พยายามศึกษาและวิเคราะห์ เก็บข้อมูลรวบรวมจะออกเป็นตำราเพื่อได้ศึกษา ซึ่งในแต่ละเรื่องใช้ระยะเวลา 2-3 ปี ทำการเปรียบเทียบคาดว่าจะสำเร็จ 6-7 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นของประเทศไทย

Facebook Comments